2024-08-19 HaiPress
สภาพัฒน์ เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทย จีดีพีปี 67คาดขยายตัว 2.5% หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ 1.9% จับตาแนวโน้มปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง ความท้าทายในครึ่งปีหลังทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วันที่ 19 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 67 ขยายตัว 2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ครึ่งปีแรกปี 67 ขยายตัวได้ 1.9% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 67 จะขยายตัว 2.3-2.8% มีค่ากลางที่ 2.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 2-3% ซึ่งมีค่ากลางเท่าเดิมคือ 2.5%
ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปี 67 ขยายตัว 2%
ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 1 ปี 67 อยู่ที่ 90.8% ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 90.7% ซึ่งในระยะต่อไปอาจจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการพุ่งเป้าในการเข้าไปช่วยดูแล ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อยานยนต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุทกภัย เนื่องจากไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติ
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน โดยจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเริ่มปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก การชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดกับไทย
นอกจากนี้ต้องติดตามทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายประเทศสำคัญที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสหรัฐ ที่อยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง แต่มองว่า การค้าระหว่างประเทศจะมีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดว่านโยบายภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้วจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ จากการฟื้นตัวที่ล้าช่าของภาคการผลิต การปรับโครงสร้างภาคการผลิต โดยเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศปรับตัวลดลง ดังนั้นคงต้องเร่งในการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องการสร้างฐานสำคัญที่เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุน ทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ ศักยภาพแรงงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อสร้างปัจจัยที่มีความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะหากดูโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทย พบว่า สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง ดังนั้นคงต้องเร่งในการสร้างเรื่องของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 67 ดังนี้
1.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลง คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะราบเรียบไม่ได้มีอุปสรรคอะไร ดังนั้นตัวงบประมาณที่อยู่ระหว่างการพิจารณา หากสามารถทำให้ออกมาตรงตามเวลาทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนของรัฐต่อเนื่อง และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
2.การขับเคลื่อนการลงทุน ให้ได้รับการลงทุนจริง การอนุมัติบัตรส่งเสริมให้จากบีโอไอ
3.การป้องกันการทุ่มตลาดจากสินค้าที่นำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาการใช้มาตรการการเฝ้าระวังการทุ่มตลาด ที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะเข้ามาในไทย การตรวจสอบคุณภาพสินค้าต้องเข้มงวดมากขึ้น และพิจารณามาตรการการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้สินค้าที่เข้ามาในประเทศเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันสินค้าที่ไมได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงเร่งรัดการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ
4.การดูแลสภาพคล่องธุรกิจเอสเอ็มอี โดยการดูแลสภาพคล่องที่มีศักยภาพ โดยส่งเสริม Promt biz ให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ส่งเสริมการใช้กับเครือข่ายของตัวเอง เพื่อให้มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น รวมถึงการใช้เครดิตเทอม เพื่อส่งเสริมให้สั้นลง ช่วยให้ภาคเอสเอ็มอีนำไปส่งมอบสินค้าไปขอเงินกู้จากแบงก์ได้ก่อน เพื่อใช้ในการพัฒนาการผลิตของตัวเอง เพื่อให้มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งครัวเรือนและธุรกิจ โดยมีมาตรการที่ตรงจุด เพื่อให้สามารถมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย เพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิต
5.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยสัญญาณการเบิกจ่ายมีแนวโน้มดีขึ้น และทำให้โมเมนตัมการเบิกจ่ายงบประมาณ เบิกจ่ายได้ต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายไตรมาสเดียวกันของปีก่อนด้วย
6.การรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการนำทันสถานการณ์ เพื่อลดปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีได้
7.การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านการท่องเที่ยว
8.การเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยหากงบประมาณปี 68 ออกมา จะต้องจัดวงเงินบางส่วนเพื่อใช้สำหรับเตรียมการรองรับผลกระทบความผันผวนของเศรษฐกิจและการค้าโลก
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20