2024-09-11 HaiPress
ครัวเรือนไทย หนี้พุ่งสูงสุดรอบ 16 ปี นับจากปี 52 เหตุเศรษฐกิจชะลอ ค่าครองชีพแพง ดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 90.8% ส่วนใหญ่กู้เพื่อลงทุนธุรกิจ ลงทุนด้านการเกษตร ซื้อสินทรัพย์ถาวร สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงในชีวิต
วันที่ 10 ก.ย. นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 67 ที่สำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 1,300 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย. 67 ว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบปี 66 ที่มีเฉลี่ย 559,408 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และนอกระบบ 30.1% โดยมีภาระผ่อนชำระเดือนละ 18,787 บาท เป็นหนี้ในระบบ 17,229 บาท และนอกระบบ 6,518 บาท ทั้งนี้ มูลหนี้ 606,378 บาท สูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 52 ที่ขณะนั้นมีหนี้เฉลี่ยเพียง 143,476 บาท
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า 99.7% ของครัวเรือนไทยมีหนี้สิน มีเพียง 0.3% ที่ไม่มีหนี้ โดยเป็นหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด ตามด้วยซื้อยานพาหนะส่วนบุคคล (อุปโภคบริโภค) ที่อยู่อาศัย ประกอบธุรกิจ และการศึกษา ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ตอบว่า หนี้สินเพิ่มขึ้นมาก และในอีก 1 ปีข้างหน้า หนี้จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะหนี้ในระบบ สาเหตุก่อหนี้ มาจากเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย ใช้เงินฉุกเฉิน ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำธุรกิจล้มเหลว ลงทุนธุรกิจเพิ่ม ซื้อสินทรัพย์ถาวร ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ตกงาน ผ่อนสินค้ามากเกินไป ติดการพนัน ฯลฯ
สำหรับความสามารถชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า 28.4% ไม่มีปัญหา แต่อีก 71.6% มีปัญหา ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท เพราะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด สภาพคล่องของธุรกิจ/ครัวเรือนลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ เป็นหนี้แบบต้นทบดอก ตกงาน ภัยธรรมชาติ ฯลฯ และคาดว่าในอีก 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า มากถึง 34.2% มีโอกาสมีปัญหาผ่อนชำระมาก,29.1% มีปัญหาปานกลาง,29.9% น้อย และ 6.8% ไม่มีเลย
ส่วนข้อเสนอแนะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือ ให้ความรู้เรื่องการวางแผนใช้จ่าย หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ความรู้ในการบริหารหนี้ ปรับโรงสร้างหนี้ เพิ่มสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย ลดค่าครองชีพให้กับกลุ่มเปราะบาง ฝึกอบรมวิชาชีพ สถาบันการเงินคัดกรองการปล่อยกู้เงิน หรือจำกัดวงเงินกู้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วน 90.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ทำให้ตั้งแต่ปี 56 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับเกิน 80% และสูงเกิน 90% มาตั้งแต่ปี 63 ที่เกิดเทรดวอร์ โควิดระบาด และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ไทยไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 80% ได้เลย
“แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงเกิน 90% ไม่ได้น่ากลัว และไม่ได้เป็นจำเลยของสังคมที่รุนแรง เพราะมีสัดส่วนหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ จึงทำให้มีสดัดส่วนต่อจีดีพีสูงขึ้น และการแปลงจากนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมาสู่ในระบบที่ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยลดภาระผ่อนชำระของประชาชน อีกทั้งผลสำรวจพบว่า ประชาชนไม่ได้กู้เพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ที่ก่อหนี้ เพราะการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามแผน เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ภัยแล้ง สงคราม เศรษฐกิจชะลอตัว จึงต้องกู้ นอกจากเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังกู้มาสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ อย่างลงทุนธุรกิจ ลงทุนด้านการเกษตร ซื้อสินทรัพย์ถาวร ที่สร้างความมั่นคงในชีวิต ทำให้แม้เป็นหนี้แต่ชีวิตดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม การมีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ได้บั่นทอนเศรษฐกิจ และไม่ได้แปลว่าประเทศจะเคลื่อนไม่ได้ เพราะสภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้สาธารณะที่มากกว่า 80% ของจีดีพี ไม่ได้มีข้อระบุว่าเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ หากการเป็นหนี้นั้นสร้างประโยชน์ต่อประชาชน เพียงแต่มีผลทางจิตวิทยา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง จะทำให้ประชาชนบริโภคได้เต็มที่
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21
01-21