2025-01-06 HaiPress
จับตา 19 บริษัทเตรียมขายหุ้นIPO ปี68 หลังตลาดไม่เอื้อ และราคาเริ่มต่ำกว่าจอง
รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี68 นี้มีบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นเครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ทั้งหมด19 บริษัท โดยได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว 9 บริษัท แบ่งเป็น ตลาดหลัก 4 บริษัท เอ็มเอไอ 5 บริษัท และมีการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว 21 บริษัท แบ่งเป็น ตลาดหลัก 7 บริษัทและตลาดเอ็มเอไอ 14บริษัท ส่วนใหญ่ในตลาดหลักเป็นธุรกิจการเงิน บริการ และสินค้าอุตสาหกรรม และตลาดเอ็มเอไอเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี และบริการ
ขณะที่ในปี67 ที่ผ่านมามีบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นเครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ)ในตลาดหลักและเอ็มเอไอรวม 32 บริษัท มูลค่าระดมทุน 20,450.89 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 28,745.25 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 112,806.42ล้านบาท ซึ่งลดลงลงจากช่วงเดียวกันของปี66 ที่ออกไอพีโอรวม 40 บริษัท มูลค่าระดมทุน38,259.50 ล้านบาท มูลค่าเสนอขาย 45,306.19 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 173,717.04 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตลาดหลักในธุรกิจการเงิน อาทิบมจ.อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป,บมจ.เงินเทอร์โบ ธุรกิจบริการ อาทิ บมจ.บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น,มิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย.โฮลดิ้ง(ประเทศไทย),บมจ.จีเอ็มเอ็ม มิวสิค และธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม อาทิบมจ.วาย.เอส.เอส. ประเทศไทย),บมจ.แมสเทค ลิ้งค์,บมจ.แพลททินัม ฟรุ๊ต ส่วนในตลาดเอ็มเอไอเป็นธุรกิจเทคโนโลยี อาทิ บมจ.บลู โซลูชั่น,บมจ.โปร อินไซด์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป,เอ็มเอ็มเอ็ม แคปปิตอล,บมจ.ไทยประเสริฐกรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรส์ ธุรกิจบริการ อาทิ บมจ.มาเธอร์ มาร์เก็ตติ้ง,บมจ.สกิลเลน เทคโนโลยี,บมจ.โรงพยาบาลมุกดาหารอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บลจ. เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์กล่าวว่า ในปี67 ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวยสะท้อนจากปริมาณการซื้อขายที่ลดลงจากปีก่อน ทำให้ไม่สามารถผลักดันราคาหุ้นไอพีโอให้ไปได้ไกล ประกอบกับธุรกิจที่เข้าไอพีโอส่วนใหญ่ยังไม่น่าสนใจ และเมื่อเข้ามาในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี ราคาหุ้นหลังผ่านการเก็งกำไรวันแรกจึงถูกกดดันให้ลดต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ปี68 มีแนวโน้มที่ผลตอบแทนหุ้นไอพีโอกลับมาโดดเด่นกว่าปีนี้ได้ หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อให้สูงขึ้น ประกอบกับ ภาวะการเมืองในประเทศไทยต้องนิ่ง อีกทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลดีมาถึงตลาดหุ้นไทยได้ด้วย
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นไอพีโอระยะหลังต่ำกว่าราคาจองซื้อค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะตลาดหุ้นไทยที่ไม่ได้ดีมาก ซึ่งส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยด้วย แต่ต้องยอมรับด้วยว่า ระยะหลังนักลงทุนรายย่อยก็มีความมั่นใจต่อหุ้นไอพีโอลดลง มีความกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเข้าลงทุน และอารมณ์คนส่วนใหญ่ก็แสดงออกมาให้เห็นอยากชัดเจนว่า ไม่ได้อยากจะถือหุ้นเอาไว้เหมือนสมัยก่อน
01-21
01-21
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20