2025-01-14 HaiPress
เปิดรายละเอียด Easy E-Receipt 2.0 ใช้ยังไง เงื่อนไขแบบไหน เริ่ม 16 ม.ค. สรรพากรเผยมีร้านเข้าร่วมกว่า 1 แสนร้านค้า
หลังจากรัฐบาล โดยกรมสรรพากรเดินหน้าต่อมาตรการภาษี “Easy E-Receipt 2.0” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2568 โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ
เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
ล่าสุด กรมสรรพากร อัปเดตว่า มาตรการภาษี “Easy E-Receipt 2.0” มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้มาตรการนี้ ผู้เสียภาษีสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น
1. ลดหย่อนสูงสุด 30,000 บาทซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่ออก
– ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice)
– ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
2. ลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท (ต้องใช้หลักฐาน e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เช่นกัน)
– ซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
– ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน
– ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ การซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 2. สามารถใช้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ตามข้อ 1. ได้เช่นกัน โดย e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
“มาตรการนี้ นอกจากจะช่วยลดภาระภาษีให้กับประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนใน ระบบเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ เข้าร่วมระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จำนวน 12,395 ราย โดยมีร้านค้ารวมทั้งสิ้น 108,873 ร้านค้า* แบ่งเป็น 1. e-Tax Invoice & e-Receipt จำนวน 101,297 ร้านค้า 2. e-Tax Invoice by Time Stamp จำนวน 7,576 ร้านค้า สำหรับร้านค้า ที่ต้องการใช้ระบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่”
ผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
01-21
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20
01-20