2025-03-15 HaiPress
สรุปเงินบาทรอบสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าช่วงแรก แต่ฟื้นตัวกลับตามราคาทองคำตลาดโลกที่กลับมายืนเหนือแนว 2,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าช่วงแรก แต่ฟื้นตัวกลับตามราคาทองคำตลาดโลกที่กลับมายืนเหนือแนว 2,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง
เงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ ยังมีแรงประคองบางส่วนจากสัญญาณจากประธานเฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกยังเพิ่มแรงกดดันต่อเงินบาทด้วยเช่นกัน
เงินบาทเริ่มฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ จากความกังวลในเรื่องสงครามการค้าที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจนถึงช่วงปลายสัปดาห์จากราคาทองคำในตลาดโลกที่กลับมายืนเหนือแนว 2,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง และสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ในวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,406 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,345 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 9,770 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 426 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 17-21 มี.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินและ dot plot ของเฟด (18-19 มี.ค.) สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับประเทศคู่ค้า ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. ผลการสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มี.ค. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ,BOE และ Bank Indonesia ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR และตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในเดือน ม.ค.-ก.พ. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรด้วยเช่นกัน
04-01
03-31
03-31
03-26
03-26
03-20
03-20
03-20
03-20
03-20