2025-03-17 HaiPress
เปิดคาดการณ์ผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดคงดอกเบี้ย 4.25-4.50% ในวันที่ 18-19 มี.ค. นี้ รอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในวันที่ 18-19 มี.ค. นี้ คาดเฟดคงดอกเบี้ย แต่จะปรับลดอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้น
ในการประชุม FOMC วันที่ 18-19 มี.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% เนื่องจากเฟดคงรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ขณะที่ตัวเลขล่าสุด เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด และตลาดแรงงานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจังหวะการปรับลดคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ออกมา ประกอบกับอาจมีการส่งสัญญาณชะลอการทำ Quantitative Tightening (QT) ลง โดยทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น
“กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” มีมุมมองภาพรวมในสัปดาห์นี้ จุดสนใจหลักจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 18-19 มี.ค. ซึ่งคาดว่าจะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25-4.50% แม้เงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของสหรัฐ ต่ำกว่าคาด โดยประธานเฟดได้เน้นย้ำว่าไม่รีบร้อนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ขณะที่นักลงทุนจะติดตามประมาณการดอกเบี้ย (Dot Plot) ชุดใหม่จากเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงการประเมินทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ขณะที่ Dot Plot เมื่อเดือน ธ.ค. 67 บ่งชี้ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงสองครั้งในปีนี้ และอีกสองครั้งในปี 69 ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่ 19 มี.ค. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% โดยตลาดจะจับสัญญาณเพื่อประเมินจังหวะเวลาที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้
อนึ่ง ในภาพรวมระยะนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะถูกขับเคลื่อนโดยการคาดการณ์นโยบายการค้าของผู้นำสหรัฐ และการตีความการสื่อสารของธนาคารกลางหลักต่างๆ ขณะที่การบรรลุข้อตกลงขยายงบประมาณใช้จ่ายทางการคลังของเยอรมนี ไม่น่าจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมมากนัก เนื่องจากค่าเงินยูโรได้สะท้อนประเด็นดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้ว
สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน และ ธปท. ไม่ต้องการที่จะปรับดอกเบี้ยบ่อยครั้ง โดยยังคงพิจารณาการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน
04-01
03-31
03-31
03-26
03-26
03-20
03-20
03-20
03-20
03-20