2025-03-18 IDOPRESS
SCB EIC หนุนแก้หนี้ เพิ่มรายได้ แนะออกมาตรการระยะสั้นคู่กับระยะยาว ระวัง Moral Hazard เน้นแก้เฉพาะจุด
วันที่ 18 มี.ค. นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีแนวความคิดให้มีการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร ว่า เข้าใจว่าทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้ โดยหลักการถ้าจะให้การแก้หนี้มีความยั่งยืน คือการเพิ่มรายได้ และเพิ่มความสามารถในการก่อหนี้ โดยต้องควบคู่กับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย
นอกจากนี้ ภาคการเงินยังได้ช่วยประคับประคองลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งแนวคิดการรับซื้อหนี้ประชาชน ต้องขอรอดูความชัดเจนของแนวคิดนี้ก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังเลยคือการเกิดจงใจเบี้ยวหนี้ Moral Hazard และต้องเป็นมาตรการที่ให้การยืดเวลาหนี้ออกไปสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีลูกหนี้บางส่วนไปต่อไม่ไหว ซึ่งมาตรการที่ออกมาอาจต้องใช้นโยบายแบบเฉพาะจุด และอาจต้องมีการปฏิรูปบางอย่าง เช่น เรื่องในชั้นศาล เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้
ขณะเดียวกัน ควรมีมาตรการระยะสั้นควบคู่กับมาตรการระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และต้องมีการสื่อสารที่ดี เพื่อให้นักลงทุนและผู้ประกอบการได้มีการวางแผน ขณะที่นโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เป็นในเดือน มิ.ย. 1 ครั้ง และครึ่งปีหลังอีก 1 ครั้ง จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ในปี 68 จากปัจจุบัน 2%
นายยรรยง กล่าวว่า อีไอซี ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จีดีพีขยายตัว 2.4% ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทในเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย และผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทย
“ในระยะข้างหน้า มองว่าไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กันไปพร้อมกับการสื่อสารในเรื่องการผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยเร่งดำเนินการในระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ”
04-01
03-31
03-31
03-26
03-26
03-20
03-20
03-20
03-20
03-20