2025-03-19 HaiPress
โมเดลซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคาร ผ่านการจัดตั้ง National AMC แยกหนี้เสียมาบริหาร ข้อดี-ข้อเสีย ลักษณะรูปแบบมีอะไร จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้หรือไม่ ส่อง AMC ในต่างประเทศเป็นอย่างไร
จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการเสนอแนวคิดการซื้อหนี้ประชาชนจากระบบธนาคาร โดยอาจจะให้แยกหนี้ดี หนี้เสีย ตั้งเป็นบริษัท AMC เพื่อมาบริหารหนี้นั้น ในเรื่องนี้ได้มีนักวิชาการให้ความเห็นไว้ และได้เคยเสนอให้จัดตั้ง National AMCs หรือบริษัทบริหารหนี้แห่งชาติให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ต่างๆ ให้จบลง
“ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” นักวิชาการอิสระ และอดีตรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ได้เคยเสนอแนวคิดในการจัดตั้ง National AMCs ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไม่ใช่แค่โตช้าต่อเนื่อง แต่เริ่มโตช้ากว่าเศรษฐกิจโลกมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาจากภาคการผลิตที่ลามมาสู่การบริโภค เมื่อธุรกิจขายของไม่ได้ก็ทำให้กระทบต่อภาคแรงงานจนกระทบต่อการจ่ายหนี้ โดยปัญหาเรื่องหนี้เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ
“หนี้เป็นเรื่องระยะยาว และการแก้หนี้ไม่ได้มาจากเรื่องลดดอกเบี้ย แต่การลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจฟื้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นทำให้คนมีรายได้ไปจ่ายหนี้ เรื่องแก้หนี้ต้องทำให้เร็วขึ้น”
หลักการแก้หนี้ที่ดีต้องไม่ทำให้เกิดการจงใจเบี้ยวหนี้ (Moral Hazard) ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นช่วยวันนี้แล้วอนาคตคนที่เคยถูกช่วยจะยังจ่ายหนี้คืนอีกหรือไม่ เพราะรู้ว่าอาจจะมีการแฮร์คัทหนี้ให้อีก
ซึ่งความคิดว่า “เดี๋ยวก็มีคนแฮร์คัทหนี้ให้” ก็จะทำให้การทำงานของระบบการเงินไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุน การแก้หนี้ควรต้องสมัครใจร่วมกัน ควรสร้างกลไกให้คนช่วยกันแก้หนี้ เพราะการบังคับทำไม่ได้เพราะหากบังคับทุกคนก็เลิกทำ
สำคัญที่สุดคือ การแก้หนี้ต้องใช้เวลา และควรหาเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเติมไว้ล่วงหน้า หากในปีหน้ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น เศรษฐกิจ Hard Landing จนทำให้หนี้ที่มีปัญหาอยู่เป็นปัญหาหนักขึ้นจะทำอย่างไร โดยปัญหาหนี้ในปัจจุบันต่างจากอดีต
“เมื่อปี 2540 เป็นหนี้ของบริษัทอาจจะมีหลักร้อยบริษัท แต่ปัญหาปัจจุบันเป็นหนี้บุคคลที่คนเป็นหนี้มีหลักล้านคน การแก้ปัญหาทำได้ยากกว่า ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะจำนวนคนเยอะ และเป็นวิกฤติทางสังคม จึงควรสร้าง ICU ไว้เผื่อโคม่าจะได้มีรองรับ ไม่งั้นสร้างไม่ทัน การสร้าง ICU รองรับปัญหาหนี้ในอนาคตคือ การสร้าง National AMCs”
ดร.สมประวิณ ระบุว่า การบริหารหนี้เสียมีหลายวิธี สถาบันการเงินจะเลือกใช้วิธีที่สอดคล้องกับ ‘สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งหมายถึงภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจการเงิน และ ‘กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ’ ที่สถาบันการเงินใช้เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งอาจมองจาก 2 มิติ
1.มิติ ‘ขอบเขต’ ของหนี้เสีย ว่าเกิดขึ้นบางบัญชี บางอุตสาหกรรม บางกลุ่มลูกค้า ซึ่งสะท้อนปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นเฉพาะจุด หรือหนี้เสียที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างตามภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ชะลอลง
2.มิติ ‘ปัญหาของหนี้’ ว่าประสบปัญหาการชำระหนี้จากปัจจัยชั่วคราว เช่น ธุรกิจขาดสภาพคล่อง แต่คาดว่ากระแสเงินสดจะกลับมาเป็นปกติในระยะข้างหน้า หรือปัญหาการชำระหนี้เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม Sunset
การบริหารหนี้เสียในกรณีที่ปัญหาหนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว สถาบันการเงินจะพักหรือยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ โดยอาจพักเฉพาะเงินต้นหรือทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย วิธีการนี้สามารถดำเนินการได้เร็วและมีต้นทุนทางการเงินน้อย รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้บ้าง แต่สถาบันการเงินจะยังต้องเก็บความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ไว้ในงบการเงิน
ส่วนในกรณีที่หนี้เสียเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของลูกหนี้บางกลุ่ม สถาบันการเงินจะตัดจำหน่ายหรือฟ้องบังคับคดี การตัดจำหน่ายจะลดการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ทันที แต่ต้องแลกกับการยอมรับผลขาดทุนเต็มจำนวน ในขณะที่การฟ้องบังคับคดีมีต้นทุนทางกฎหมายและใช้เวลานานโดยเฉพาะในกระบวนการขายทอดตลาด
ขณะที่ในกรณีที่หนี้เสียเกิดขึ้นชั่วคราวแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขสัญญาเดิม สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยคาดว่าเมื่อโควิดสิ้นสุดลง ลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ
สุดท้าย ในกรณีที่หนี้เสียจากปัญหาเชิงโครงสร้างกระจายตัวเป็นวงกว้าง จนเกินกำลังที่สถาบันการเงินจะบริหารเอง สถาบันการเงินจะขายหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Companies: AMCs) ที่มีทรัพยากรและองค์ความรู้นำไปบริหารจัดการ โดย AMCs จะฟื้นฟูมูลค่าหนี้เสียผ่านการตามเก็บหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงการฟ้องบังคับคดี
ปัจจุบันไทยมี AMCs ที่บริหารโดยเอกชนจำนวน 83 แห่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.AMCs ที่รับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด
2.AMC ที่รับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินบางแห่งโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่เป็น AMCs ที่สถาบันการเงินจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารหนี้เสียของตนเอง เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ซึ่งรับซื้อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
AMCs เอกชนดำเนินธุรกิจในระบบตลาดจึงมีแรงจูงใจที่จะบริหารจัดการหนี้ให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือ AMCs แต่ละแห่งแยกกันบริหารจัดการหนี้เสีย ทั้งที่ร่วมมือกันอาจสัมฤทธิผลมากกว่า
ในบางกรณี AMCs เอกชนหลายแห่งอาจลงทุนกับข้อมูลหรือโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารหนี้เสียลักษณะเดียวกัน ในบางกรณีหนี้เสียของลูกหนี้รายใหญ่อาจกระจายอยู่กับสถาบันการเงินหลายแห่ง และถูกซื้อโดย AMCs ต่างรายที่อาจมีกลยุทธ์บริหารหนี้เสียที่ขัดแย้งกัน
และในบางกรณี AMCs เอกชนที่แสวงหากำไรอาจเร่งเทขายสินทรัพย์ทอดตลาดพร้อมกันจนราคาตกลงมาก เราจะเห็นข้อเสียชัดขึ้นในภาวะที่หนี้เสียเพิ่มจำนวนขึ้นเร็ว ในขณะที่ทรัพยากรสำหรับการจัดการหนี้มีจำกัด
ในสถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐจะพิจารณาจัดตั้ง National AMCs เพื่อรับซื้อและบริหารจัดการหนี้แบบรวมศูนย์ การรับซื้อหนี้เสียปริมาณมากจากสถาบันการเงินหลายแห่งทำให้มี Economies of Scale และ Economies of Scope ในการบริหาร และสามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ National AMCs ยังเข้าถึงเงินลงทุนภาครัฐและจะมีอำนาจต่อรองในการขายสินทรัพย์ทอดตลาดอีกด้วย ซึ่ง National AMCs ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ Korea Asset Management Corporation (KAMCO) ที่รัฐบาลเกาหลีใต้จัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อหนี้เสียในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s
รัฐบาลไทยก็เคยจัดตั้ง National AMCs ในชื่อ ‘บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (Thai Asset Management Corporation: TAMC)’ ในช่วงวิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงิน TAMC มีกำลังรับซื้อหนี้เสียมากถึง 7.8 แสนล้านบาทในช่วงปี 2542-2546 และมีสัดส่วน Disposal Rate ซึ่งหมายถึง มูลค่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จัดการได้ต่อมูลค่าทางบัญชีสูง 73.46% (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2546) เทียบกับ KAMCO (61.6) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
National AMCs ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ มีคุณลักษณะร่วมกัน ดังนี้
ป้องกันหรือบรรเทาปัญหา Moral Hazard ได้ดี โดยปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากลูกหนี้ โดยลูกหนี้อาจตั้งใจหยุดชำระหนี้ทั้งที่ยังชำระได้ ให้สถาบันการเงินยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดเพื่อรอซื้อสินทรัพย์คืนโดยคาดว่าจะซื้อคืนได้ในราคาที่ต่ำลง ส่งผลให้มีหนี้เสียเพิ่มสูงเกินไปจนกระทบความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ Moral Hazard กรณีนี้สามารถป้องกันได้ โดยพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อติดตามที่มาที่ไปของสินทรัพย์และใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้ลูกหนี้กลับมาซื้อสินทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด
Moral Hazard ยังอาจเกิดจากสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินคาดว่าจะสามารถโอนหนี้เสียไปยัง AMCs ได้ จึงอาจขาดแรงจูงใจที่จะบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและกล้าให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปจนสะสมความเปราะบาง
จากประสบการณ์ต่างประเทศ AMCs สามารถตกลงเงื่อนไขให้สถาบันการเงินยังมีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้หนี้อยู่ เช่น อาจให้สถาบันการเงินกับ AMCs ร่วมทุนก่อตั้ง Special Purpose Vehicle (SPV) ที่ดำเนินการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยสถาบันการเงินในฐานะผู้ถือหุ้นก็จะต้องยอมรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานของ SPV ด้วย
โดยอาจนำประสบการณ์ต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น กรณีการร่วมทุนระหว่างธนาคาร Intesa Sanpaolo ในอิตาลี และบริษัท Intrum ซึ่งเป็น AMCs จากสวีเดน มีเครื่องมือทางการเงินที่ผูกกับผลตอบแทนจากบริหารหนี้เสีย เครื่องมือที่หลากหลายจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและช่วยกระจายความเสี่ยง
หนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ KAMCO ที่ออกหลักทรัพย์โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นหนี้เสีย (Asset-Backed Security) ขายให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาดซื้อขายหนี้เสียซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่จูงใจให้ผู้ซื้อและผู้ขายตั้งราคาหนี้เสียให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง
นอกจากนี้ หากสามารถเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายเครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับหนี้เสียจะเปิดโอกาสให้ National AMCs ถ่ายโอนหนี้เสียต่อไปให้กับ AMCs ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีพอร์ตหนี้เสียจากหลายประเทศที่กระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
04-01
03-31
03-31
03-26
03-26
03-20
03-20
03-20
03-20
03-20