2025-03-20 IDOPRESS
เกาะติดสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก กับความสัมพันธ์ค่าเงินบาทเป็นอย่างไร และแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2568 อาจกลับไปอ่อนค่า
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” วิเคราะห์สถานการณ์ทองคำและค่าเงินบาท ระบุว่า ภาพรวมความต้องการทองคำทั่วโลกทยอยฟื้นตัวกลับมาในปี 2564-2567 และน่าจะต่อเนื่องในปี 2568 ตามแรงซื้อของผู้เล่น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารกลาง นักลงทุนและผู้บริโภค
ความต้องการทองคำทั่วโลกลดลงไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ทยอยฟื้นตัวกลับมาสอดคล้องกับการทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องของราคาทองคำในตลาดโลก นำโดย แรงซื้อสะสมเข้าทุนสำรองของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก และเมื่อรวมกับผลของราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลทำให้สัดส่วนทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 19.7% ณ สิ้นปี 2567 และมีแนวโน้มขยับเข้าใกล้ระดับ 20% ต่อเนื่องในปีนี้ (จาก 12.2% ในช่วงปี 2562 ก่อนโควิด-19)
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำก็ขยับเพิ่มขึ้นในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกที่นักลงทุนนิยมมีติดพอร์ตไว้เพื่อกระจายการลงทุน ขณะที่ ผู้บริโภคทั่วไปเองก็ซื้อสะสมทองคำเพื่อการออมและเป็นเครื่องประดับด้วยเช่นกัน
สำหรับไทย ทองคำในทุนสำรองฯ รวมถึงพฤติกรรมการออม/ลงทุนในทองคำของคนไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนทองคำในทุนสำรองฯ ของทางการไทยที่เพิ่มขึ้นมาที่ 8.3% ณ สิ้นปี 2567 ขณะที่ ความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคและยอดขาดดุลในหมวดทองคำ ก็เร่งตัวขึ้นตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกช่วงปี 2564-2567
ทั้งนี้ จากการที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง ทำให้ภาคครัวเรือนไทยนิยมใช้ทองคำและเครื่องประดับที่ทำจากทองคำเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็บออม โดยค่าเฉลี่ยความต้องการทองคำของผู้บริโภคไทยฟื้นกลับมาที่ 41.8 ตันต่อปี จากที่หดตัวลงไปในช่วงโควิด-19 สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าทองคำที่เร่งตัวขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออกทองคำไปตลาดโลก ซึ่งส่งผลทำให้ดุลการค้าจากหมวดทองคำพลิกติดลบในช่วงปี 2564-2567 เช่นกัน
ในขณะที่นักลงทุนไทยมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการลงทุนทองคำ โดยนอกจากจะลงทุนในรูปการซื้อ-ขายทองคำแท่งแล้ว ยังสามารถเปิดบัญชีซื้อขายทองคำออนไลน์ และลงทุนในอนุพันธ์ทองคำหรือสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ Gold Online Futures ที่ราคาจะเคลื่อนไหวตามราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งล่าสุด 18 มี.ค. 2568 มีการเปิดสถานะคงค้าง (Open Interest) ที่ประมาณ 48,156 สัญญา เพิ่มขึ้นจากที่มีการเปิดสถานะคงค้าง 27,281 สัญญา ณ สิ้นปี 2567
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท
หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB กับราคาทองคำกลับสวนทางกัน (ทองขึ้น บาทแข็ง) เนื่องจากนักลงทุนไทยมักเทขายทองคำ เมื่อราคาทองปรับสูงขึ้น
การออม/การลงทุนในทองคำของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางของเงินบาทในบางช่วงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะ ซึ่งก็คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก ทั้งนี้ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างราคาทองคำในตลาดโลกและ USD/THB ในช่วงย้อนหลัง 12 เดือน อยู่ที่ -0.83 ซึ่งสะท้อนว่า ราคาทองคำในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้าม
โดยเงินบาทมักจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้น (ราคาทองคำตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นกระตุ้นแรงขายทองคำของคนไทยและร้านค้า ซึ่งทำให้มีแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อแลกกลับเป็นเงินบาทตามมา) และจากความเคลื่อนไหวที่มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ระหว่างเงินบาทกับทองคำดังกล่าว ทำให้เงินบาทมีความผันผวนมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ โดยค่าความผันผวนของเงินบาท ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7.5-8.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ผันผวนเท่าราคาทองคำในตลาดโลกที่มีค่าความผันผวนสูงถึง 13-15% แต่ก็สูงกว่าความผันผวนของเงินบาทที่เคยเป็นในอดีต
แนวโน้มค่าเงินบาทปี 2568 อาจกลับไปอ่อนค่า แม้มีแรงหนุนบางช่วงจากทองคำ และความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์
ทองคำในทุนสำรองฯ รวมถึงความต้องการทองคำเพื่อการออม/ลงทุนของโลกและไทยเพิ่มขึ้นช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการออม/ลงทุนในทองคำของไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทิศทางของเงินบาทในบางช่วง ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเฉพาะ อย่างราคาทองคำในตลาดโลกแนวโน้มเงินบาทปี 2568 ยังมีโอกาสอ่อนค่าตามปัจจัยพื้นฐาน เพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ราคาทองคำตลาดโลกที่ยังคงทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และนโยบายทรัมป์อาจทำให้เงินบาทแกว่งตัวในกรอบกว้างและแข็งค่ากลับมาในบางช่วง
นักวิเคราะห์ยังมองราคาทองโลกอาจสูงขึ้นได้อีก (หลังจากที่ทะยานขึ้นทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใกล้แนว 3,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ซึ่งอาจมีผลหนุนทิศทางเงินบาทในระยะสั้น แต่ยังคาดว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในระยะที่เหลือของปี เพราะมีปัจจัยอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่า
จากทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่หลายฝ่ายมองว่า มีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบสูงกว่าระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ท่ามกลางแรงหนุนจากความต้องการทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังแข็งแกร่ง ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจแข็งค่าในระหว่างปีตามสัญญาณของราคาทองคำและความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ จากสงครามการค้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากย้อนกลับมามองที่ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องรับมือกับความไม่แน่นอนหลายด้าน ตลอดจนการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของไทย คาดว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของปี 2568 (ประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2568 โดยธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์)
04-01
03-31
03-31
03-26
03-26
03-20
03-20
03-20
03-20
03-20