2025-07-10 HaiPress
แบงก์ชาติ เปิดผลกระทบภาษีทรัมป์ 36% เศรษฐกิจไทยโตต่ำไปอีก 1 ปีครึ่ง มั่นใจไม่เกิดภาวะถดถอย ในอดีตมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น
วันที่ 9 ก.ค. นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum 2/2568” ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ มองว่าจะมีนัยระยะยาวค่อนข้างมาก หากพิจารณามิติความรุนแรงและมิติระยะเวลา จะเห็นว่าช็อกจาก Tariffs แตกต่างกันกับช็อกในรอบการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ที่มีความรุนแรงระยะสั้น และเป็นหลุมดิ่งลง ทุกอย่างชะงักงัน แต่ช็อกครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะมีการพูดถึงการขึ้นภาษีมาสักระยะแล้ว แต่ช็อกนี้จะทอดยาวไปถึงปี 2569
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจมองไปข้างหน้า ธปท. ประเมินเศรษฐกิจปี 2569 ขยายตัว 1.7% ถือว่าค่อนข้างต่ำ เป็นภาพเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว และเป็นการเติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และจะโตต่ำไปอีก 1 ปีครึ่ง แม้ว่าในปี 2568 จีดีพีจะขยายตัว 2.3% จะเห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มาจากตัวเลขจริงที่ออกมาจากแรงส่งภาคการส่งออกที่ออกมาขยายตัวค่อนข้างสูง 12.6% ทำให้การเติบโตเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9-3%
ส่วนในช่วงครึ่งหลังจะเห็นการชะลอตัวค่อนข้างรุนแรง และมีความท้าทายค่อนข้างมาก จะมาจากภาคการส่งออกที่ลดลงรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3/2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่าการส่งออกครึ่งปีหลังจะหดตัว -4.0% และปี 2569 หดตัว -2.0% และจะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่ำไม่ถึง 1% และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคที่ชะลอตัวลงเหลือ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ขยายตัว 3%
“มองไปข้างหน้าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะเกิดช็อกได้ ดังนั้น จุดยืนนโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง สามารถรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่มองไปข้างหน้า ธปท.พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่การทำนโยบาย (Policy Space) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) สามารถรองรับช็อกที่จะเกิดขึ้นยาวนานได้”
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs ต่อตลาดการเงินโลกและตลาดเงินไทยจากการติดตามาไม่ได้มีผลกระทบ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยปัจจุบันยังเห็นเศรษฐกิจไปได้ ไม่ได้สะดุดตามตัวเลขจริงที่ออกมา แต่มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจมีความท้าทาย เพราะ Tariffs มีผลทอดยาวกระทบต่อการส่งออก การลงทุน และการบริโภค ซึ่งสถานการณ์จะทอดยาวไปถึงปี 2569
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) เนื่องจากตัวเลขจะต้องติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ไทยเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิคเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติการเงินโลก การชุมนุมใหญ่ที่มีการปิดสนามบิน และโควิด-19
ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นประเด็นที่ ธปท. ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาปัจจัยทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10
07-10