2024-09-03 HaiPress
ปัจจุบันชาวมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ราว 2,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก และคาดว่าในปี 2593 ชาวมุสลิมจะเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวมุสลิมในหลายประเทศ เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงกว่าไทยมากถึงราว 4-10 เท่า จึงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ
โดย YCP Solidiance บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลที่ได้รับการรับรองตามหลักศาสนาอิสลาม (ไม่รวมการเงินอิสลาม) ในปี 2564 ไว้ที่ราว 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึงเกือบ 4 เท่า เและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยอุตสาหกรรรมอาหารมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ 61% รองลงมา ได้แก่ แฟชั่น 14% สื่อ 11% ยาและเครื่องสำอาง 8% และท่องเที่ยว 6%
ความน่าสนใจของตลาดอาหารฮาลาลไม่เพียงเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่ยังมีช่องว่างอยู่อีกมาก โดยเฉพาะ กลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกชาติมุสลิมถึง 57 ประเทศ มีความต้องการนำเข้าอาหารฮาลาลอีกมาก สะท้อนจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศด้านอาหารของกลุ่ม OIC ในปี 2565 ที่มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 265,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ไปยังกลุ่ม OIC เช่น บราซิลและสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม สะท้อนว่าตลาดอาหารฮาลาลค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดว่าต้องนำเข้าจากประเทศมุสลิมเท่านั้น จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายสู่ตลาดอาหารฮาลาลโลก
เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลกได้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) และหน่วยงานพันธมิตรรวม 14 หน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” โดยมุ่งหวังจะยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายระหว่างพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาช่องทางการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทย
นายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี ซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ได้กล่าวชื่นชม EXIM BANK และ ibank ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ยืนหยัดให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพแต่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินเพื่อพัฒนาธุรกิจและบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ SMEs ไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมฮาลาลมีความเชื่อมั่นในการขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นจาก 5,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็น ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 ตามนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของรัฐบาล
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ibank กล่าวว่า การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดสินค้าฮาลาล ทำให้กลุ่มบริษัทระดับโลก เช่น BRF เนสท์เล่ และ Nike ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ตลาดฮาลาล นอกจากนี้สถาบันเพื่อการพัฒนาในกลุ่ม OIC ได้แก่ The Islamic Development Bank (ISDB) หรือ The Islamic Centre for Development of Trade (ICDT) พร้อมด้วยหน่วยงานสำคัญขององค์กรสหประชาชาติ เช่น UNHCR รวมถึง World Bank ก็ให้ความสนใจกับการเงินอิสลามในมิติด้านสังคม ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ ibank รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศฮาลาลไทย โดย ibank พร้อมเป็นที่พึ่งของแหล่งเงินทุนที่ฮาลาลตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อจะไปหล่อเลี้ยง เกื้อกูลธุรกิจฮาลาลต่าง ๆ ให้เติบโตสู่เป้าหมายประเทศต่อไป
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK พร้อมสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร ปั้นผู้ประกอบการไทยให้เป็น “Halal Champion” ส่งออกสินค้าฮาลาลสู่เวทีโลกผ่านการเติมความรู้ด้าน Islamic Knowledge ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายและมาตรฐานฮาลาล รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เติมโอกาสผ่านการจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching กับผู้ซื้อในต่างประเทศ และเติมเงินทุนผ่านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุน รวมถึงเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
EXIM BANK จัดให้มีสิทธิพิเศษด้านประกันการส่งออกให้แก่ลูกค้าของ ibank ที่เป็นชาวมุสลิม และสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปที่ต้องการเงินทุนจาก EXIM BANK เพื่อเริ่มต้นส่งออกสินค้าฮาลาลหรือขยายธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอัตราพิเศษ โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถสมัครขอรับบริการด้านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุนจาก EXIM BANK สำหรับ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ได้แก่ สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 5.35% ต่อปี (Prime Rate – 1%) วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลดปีแรก 0.25% ต่อปี สินเชื่อ EXIM Green Start อัตราพิเศษเริ่มต้น 4.10% ต่อปี (Prime Rate – 2.25%) วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี และสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก อัตราพิเศษเริ่มต้น 4% ต่อปี วงเงินสูงสุดสำหรับ SMEs 20 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับส่วนลด 6 เดือนแรก 0.25% ต่อปี รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราพิเศษเริ่มต้น 3.85% ต่อปี วงเงินสูงสุด 200 ล้านบาท และกรมธรรม์ประกันส่งออก EXIM for Small Biz เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ SMEs ไทยมีโอกาสผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล โดย EXIM BANK พร้อมสานพลังกับพันธมิตรสร้างนักรบเศรษฐกิจไทยไปบุกตลาดฮาลาลโลก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571” ดร.รักษ์ กล่าว
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20
12-20