2025-04-27 IDOPRESS
‘กกพ.-พลังงาน’ เร่งประกาศบิลค่าไฟงวดใหม่เริ่ม พ.ค. 3.99 บาท ให้ทัน 30 เม.ย. นี้ ย้ำต้องเคลียร์ข้อกฎหมาย กฟผ. ให้ชัด ถ้าไม่ทันจริงๆ เตรียมวิธีการรองรับไว้แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาค่าไฟงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) ให้เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาลหน่วยละ 3.99 บาท ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ กระทรวงพลังงาน สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงกรอบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท จากที่ กกพ. ประกาศไปก่อนหน้านี้อยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาทเท่ากับงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.)
ทั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งหนังสือการรับต้นทุน มาให้ กกพ. แล้ว และบอร์ด กกพ. ได้นำไปหารือในการประชุมบอร์ด กกพ. เมื่อวันที่ 23 เม.ย. แต่ยังมีบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ต้องหารือ เพื่อทำทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งทุกฝ่ายจะพยายามประกาศค่าไฟงวดใหม่ตามกรอบรัฐบาล ให้ได้ก่อนวันที่ 30 เม.ย. เพื่อให้กับบิลค่าไฟงวดใหม่ แต่ถ้าไม่ทันบิลรอบใหม่จะเริ่ม 10 พ.ค. และถ้าไม่ทันจริงๆ จะมีวิธีการในการคำนวณค่าไฟใหม่ เช่น หักลบกับบิลค่าไฟเดือนถัดไป หรือในเดือน มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามข้อสั่งการที่ประชุม ครม. วันที่ 1 เม.ย.มีมติกำหนดเป้าหมายราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท โดยมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ที่กำกับดูแลคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้ กฟผ. และบอร์ด กฟผ. รวมทั้ง กกพ. ร่วมดำเนินการใน 3 ข้อต่อไปนี้ ให้เสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ คือ 1.หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ)ในรูปแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์)และรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (เอฟไอที)รวมถึงการแก้ไขเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาไว้
2.หาแนวทางแก้ปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (เอพี)และค่าพลังงาน (อีพี)รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญาพีพีเอ จากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว ในทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร หรือสูงเกินกว่าความเป็นจริงและ 3.หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคของข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์การควบคุมระบบไฟฟ้า (เอสโอ)ไม่สามารถบริหารจัดการการสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้
ขณะเดียวกัน ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบพูล ก๊าซ เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน มีราคาต่ำลง โดยต้องดำเนินการให้ทันรอบประกาศราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 68 ซึ่งข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. ถือเป็นการแก้ปัญหา จากที่ผ่านมามีประเด็นพูดกันถึงอำนาจในการดำเนินการการปรับลดค่าไฟ ระหว่างคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)และ กกพ.
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27
04-27